วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555

"ละคร และ ลิเก มหรสพที่ถือเป็นพระราชนิยมอย่างหนึ่ง ได้เล่นถวาย รัชกาลที่ ๕ เมื่อคราวเฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆ"


เล่น facebook แล้วคุณณัฐดนัย จันทร์เสมานนท์ ได้โพสต์ไว้..เห็นมีประโยชน์มาก จึงคิดว่าจะเป็นการดีถ้าเอามาเก็บไว้ใน Blog ด้วย



"ละคร และ ลิเก มหรสพที่ถือเป็นพระราชนิยมอย่างหนึ่ง ได้เล่นถวาย รัชกาลที่ ๕ เมื่อคราวเฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆ"
***************
พอดีค้นคว้าเกี่ยวกับวังสวนกุหลาบ ดันมาเจอข้อมูลดีๆ เข้า เลยเอามาแบ่งปันกันให้ทราบถึงความเป็นมาของ "สวนดุสิต-พระที่นั่
งวิมานเมฆ-และ ความสำคัญของ "ลิเก" ซึ่งในราชกิจจานุเบกษาฉบับนี้ แสดงให้เห็นว่า "ละคร และลิเก" ในสมัยนั้น เป็นพระราชนิยมอย่างหนึ่งของพระบรมวงศานุวงศ์ ไม่เหมือนกับในปัจจุบัน ที่คนไทยมักเหยียด หรือกระอักกระอ่วนใจเมื่อพูดถึงลิเก

*******************
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริที่จะสร้างสถานที่สำหรับประพาส และประทับแรม เพื่อเป็นที่สำราญพระราชหฤทัย เจริญพระราชอิริยาบถ และเพื่อให้สถานที่นี้เป็นที่อันงดงาม เป็นเกียรติเป็นศรีแก่พระนคร อีกสาเหตุหนึ่งที่ทรงมีพระราชดำริเช่นนี้ คือ ในฤดูร้อน สภาพอากาศในพระบรมมหาราชวังร้อนอบอ้าว อากาศไม่ถ่ายเท เพราะมีตึก และตำหนักต่างๆ บดบังอยู่รอบด้าน ประกอบกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดที่จะพระราชดำเนินโดยพระบาทในระยะทางที่พอจะเอื้อให้ทรงออกพระกำลังได้บ้าง เพราะหากประทับอยู่บนพระที่นั่งโดยมิได้เสด็จไปไหนเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้ทรงอ่อนพระกำลัง ไม่เป็นผลดีต่อพระพลานามัย จนต้องเสด็จประพาสหัวเมืองเพื่อให้ทรงสำราญพระราชอิริยาบทเนื่องๆ จึงมีพระราชดำริจะให้มีที่ประทับร้อนในพระนครที่จะเสด็จไปได้ตามพระราชประสงค์ทุกเมื่อ ในรัตนโกสินทรศก ๑๑๗ จึงโปรดให้ซื้อสวนและท้องทุ่งนา ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างคลองผดุงกรุงเกษม จนถึงคลองสามเสนด้านตะวันออกจดทางรถไฟ ด้วยเงินพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และโปรดเกล้า ฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาท สร้าง และตกแต่งพื้นที่ในบริเวณถนนสามเสน สนองพระราชดำริดังกล่าว
ตั้งแต่ ร.ศ. ๑๑๗ (พ.ศ. ๒๔๔๑) เป็นต้นมา ณ พื้นที่แห่งนั้นก็ค่อยๆ ก่อร่างสร้างเป็นพลับพลาประทับแรม ถนน สะพาน คลอง สนามหญ้า สวนผลไม้ และสวนดอกไม้อย่างงดงาม ทรงพระกรุณา โปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามสถานที่นั้นว่า สวนดุสิตแต่ไม่ทรงโปรดที่จะให้ประชาชนทั่วไปขนานนามที่ประทับนี้ว่า พระราชวังเพราะที่ประทับนี้มิได้สร้างขึ้นด้วยพระราชทรัพย์สำหรับใช้จ่ายในการแผ่นดิน พระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าจะสร้างสวนดุสิตนี้ไว้ เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับสร้างพระตำหนัก และวังพระราชทานแก่พระราชโอรส และพระราชธิดา จึงโปรดให้เรียกที่ประทับนี้ตามความเหมาะสมว่า วังสวนดุสิต
เมื่อทรงพระกรุณา โปรดเกล้า ฯ ให้เริ่มสร้างพระตำหนัก และพระที่นั่งต่างๆ ในสวนดุสิต พระราชทานแก่พระราชโอรส และพระราชธิดาดังที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้แล้ว จึงโปรดให้รื้อ พระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ที่เคยโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นที่เกาะสีชัง มาสร้างขึ้นใหม่ในสวนดุสิต พระราชทานนามพระที่นั่งนี้ว่า พระที่นั่งวิมานเมฆพร้อมกันนี้ พระองค์ยังทรงพระกรุณา โปรดเกล้า ฯ พระราชทานที่ดินทางด้านตะวันตกใกล้กับสวนสุนันทา ริมถนนใบพร (ถนนอู่ทองใน) โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระตำหนักชั่วคราวพระราชทานแก่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมขุนนครราชสีมา ได้รับพระราชทานนามแต่แรกเริ่มว่า สวนกุหลาบ
ครั้นวันที่ ๒๖ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๐ (พ.ศ. ๒๔๔๔) จึงโปรดเกล้า ฯ ให้มีการขึ้น พระตำหนักชั่วคราวที่พระราชทานแก่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมขุนนครราชสีมา อันพระราชทานนามไว้แต่แรกว่า พระตำหนักสวนกุหลาบการขึ้นพระตำหนักสวนกุหลาบ ทรงโปรดให้เลื่อนพระฤกษ์ให้เร็วกว่ากำหนดเดิม เพื่อจะได้ไม่ตรงกับพระฤกษ์เฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆ ที่จะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ภายหลังการขึ้นพระตำหนักสวนกุหลาบในวันรุ่งขึ้น
เมื่อเสร็จการขึ้นพระตำหนักสวนกุหลาบ (ชั่วคราว) แล้ว ในวันที่ ๒๗ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณา โปรดเกล้า ฯ ให้มีการเฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆตามพระฤกษ์ มีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสถวายศีล และนำสวดพระพุทธมนต์ จนเวลายาม กับ ๓๐ นาที เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร ลคร ซึ่ง เลื่อนภรรยาหลวงฤทธิ์นายเวร (พุฒ)จัดมาฉลองพระเดชพระคุณในงานเฉลิมพระที่นั่งซึ่งเล่นในปรำชาลาพระที่นั่ง ครั้นเวลา ๗ ทุ่ม ๓๖ วินาที เป็นพระฤกษ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆสรงมุรธาภิเศกในที่ แล้วเสด็จขึ้นพระแท่นเป็นพระฤกษ์ เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์พิณพาทย์ฆ้องชัย ในเวลาพระฤกษ์สรงมุรธาภิเศก และเสด็จขึ้นพระแท่น พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในถวายชัยมงคล
รุ่งขึ้นวันที่ ๒๘ มีนาคม มีพิธีพระราชทานฉันแก่พระสงฆ์ และพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์แก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ ครั้นพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก แล้วเสด็จพระราชดำเนินนำพระสงฆ์ (ซึ่งเป็นชุดเดียวกันกับที่นิมนต์มาเจริญพระพุทธมนต์เมื่อวันก่อน) เที่ยวชมพระที่นั่งข้างในทั่วไป ครั้นเวลา ๒ ทุ่ม ๔๕ นาที เสด็จพระราชดำเนินประทับโต๊ะเสวย และเสด็จพระราชดำเนินไปประทับทอดพระเนตร ลครอย่างวันก่อนจนเวลา ๗ ทุ่มเศษ เสด็จขึ้น
วันที่ ๒๙ มีนาคม เวลาย่ำค่ำ ๕๕ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกประทับ ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งวิมานเมฆ สดับพระพุทธมนต์เหมือนวันก่อน เวลา ๔ ทุ่มเศษ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับทอดพระเนตร ลครดังวันก่อนวันนี้พระราชทานรางวัลแก่ เลื่อนภรรยาหลวงฤทธิ์นายเวร (พุฒ) ในการที่จัดลครมาเล่นฉลองพระเดชพระคุณ เวลา ๗ ทุ่มเศษ เสด็จขึ้น
วันที่ ๓๐ มีนาคม เป็นวันจรดพระกรรบิดกรรไกรแก่หม่อมราชวงศ์ อันเป็นโอรส และธิดาของพระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์ คือ ม.ร.ว.หญิงประพันธ์พงษ์ ๑ และหม่อมราชวงศ์ในพระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ คือ ม.ร.ว.โป้ย และ ม.ร.ว.โป๊ะ ๒ หม่อมราชวงศ์ในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลังการ คือ ม.ร.ว.ณัฏฐสฤษดิ์ ๑ หม่อมราชวงศ์ในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านิลวรรณ์ คือ ม.ร.ว.หญิงเป้า ๑ เมื่อเสร็จสิ้นพิธีแล้วทรงเจิมหม่อมราชวงศ์ทั้ง ๕ และพระราชทานเงินทำขวัญตามสมควร จนเวลายามเศษ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับทอดพระเนตร ลิเกรพระยาเพชรปาณีซึ่งมีฉลองพระเดชพระคุณ ในการเฉลิมพระที่นั่งพอสมควรแก่เวลา และพระราชทานรางวัลแก่พระยาเพ็ชรปาณีด้วย เวลา ๒ ยามเศษ เสวยเครื่องว่างแล้วเสด็จขึ้น เป็นเสร็จการเฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆเท่านี้
***********************************************************************************
เรียบเรียงข้อมูลโดย ณัฐดนัย จันทร์เสมานนท์
***********************************************************************************
อ้างอิง :
- การเฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆ ,ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ ๑๙, วันที่ ๑๓ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ (พ.ศ.๒๔๔๕) ,หน้า ๒๕-๒๘
- แจ้งความเรื่องสวนดุสิต ,ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ ๑๕ , วันที่ ๗ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๗ (พ.ศ.๒๔๔๑) ,หน้า ๕๔๓


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น