วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555

"ละคร และ ลิเก มหรสพที่ถือเป็นพระราชนิยมอย่างหนึ่ง ได้เล่นถวาย รัชกาลที่ ๕ เมื่อคราวเฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆ"


เล่น facebook แล้วคุณณัฐดนัย จันทร์เสมานนท์ ได้โพสต์ไว้..เห็นมีประโยชน์มาก จึงคิดว่าจะเป็นการดีถ้าเอามาเก็บไว้ใน Blog ด้วย



"ละคร และ ลิเก มหรสพที่ถือเป็นพระราชนิยมอย่างหนึ่ง ได้เล่นถวาย รัชกาลที่ ๕ เมื่อคราวเฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆ"
***************
พอดีค้นคว้าเกี่ยวกับวังสวนกุหลาบ ดันมาเจอข้อมูลดีๆ เข้า เลยเอามาแบ่งปันกันให้ทราบถึงความเป็นมาของ "สวนดุสิต-พระที่นั่
งวิมานเมฆ-และ ความสำคัญของ "ลิเก" ซึ่งในราชกิจจานุเบกษาฉบับนี้ แสดงให้เห็นว่า "ละคร และลิเก" ในสมัยนั้น เป็นพระราชนิยมอย่างหนึ่งของพระบรมวงศานุวงศ์ ไม่เหมือนกับในปัจจุบัน ที่คนไทยมักเหยียด หรือกระอักกระอ่วนใจเมื่อพูดถึงลิเก

*******************
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริที่จะสร้างสถานที่สำหรับประพาส และประทับแรม เพื่อเป็นที่สำราญพระราชหฤทัย เจริญพระราชอิริยาบถ และเพื่อให้สถานที่นี้เป็นที่อันงดงาม เป็นเกียรติเป็นศรีแก่พระนคร อีกสาเหตุหนึ่งที่ทรงมีพระราชดำริเช่นนี้ คือ ในฤดูร้อน สภาพอากาศในพระบรมมหาราชวังร้อนอบอ้าว อากาศไม่ถ่ายเท เพราะมีตึก และตำหนักต่างๆ บดบังอยู่รอบด้าน ประกอบกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดที่จะพระราชดำเนินโดยพระบาทในระยะทางที่พอจะเอื้อให้ทรงออกพระกำลังได้บ้าง เพราะหากประทับอยู่บนพระที่นั่งโดยมิได้เสด็จไปไหนเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้ทรงอ่อนพระกำลัง ไม่เป็นผลดีต่อพระพลานามัย จนต้องเสด็จประพาสหัวเมืองเพื่อให้ทรงสำราญพระราชอิริยาบทเนื่องๆ จึงมีพระราชดำริจะให้มีที่ประทับร้อนในพระนครที่จะเสด็จไปได้ตามพระราชประสงค์ทุกเมื่อ ในรัตนโกสินทรศก ๑๑๗ จึงโปรดให้ซื้อสวนและท้องทุ่งนา ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างคลองผดุงกรุงเกษม จนถึงคลองสามเสนด้านตะวันออกจดทางรถไฟ ด้วยเงินพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และโปรดเกล้า ฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาท สร้าง และตกแต่งพื้นที่ในบริเวณถนนสามเสน สนองพระราชดำริดังกล่าว
ตั้งแต่ ร.ศ. ๑๑๗ (พ.ศ. ๒๔๔๑) เป็นต้นมา ณ พื้นที่แห่งนั้นก็ค่อยๆ ก่อร่างสร้างเป็นพลับพลาประทับแรม ถนน สะพาน คลอง สนามหญ้า สวนผลไม้ และสวนดอกไม้อย่างงดงาม ทรงพระกรุณา โปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามสถานที่นั้นว่า สวนดุสิตแต่ไม่ทรงโปรดที่จะให้ประชาชนทั่วไปขนานนามที่ประทับนี้ว่า พระราชวังเพราะที่ประทับนี้มิได้สร้างขึ้นด้วยพระราชทรัพย์สำหรับใช้จ่ายในการแผ่นดิน พระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าจะสร้างสวนดุสิตนี้ไว้ เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับสร้างพระตำหนัก และวังพระราชทานแก่พระราชโอรส และพระราชธิดา จึงโปรดให้เรียกที่ประทับนี้ตามความเหมาะสมว่า วังสวนดุสิต
เมื่อทรงพระกรุณา โปรดเกล้า ฯ ให้เริ่มสร้างพระตำหนัก และพระที่นั่งต่างๆ ในสวนดุสิต พระราชทานแก่พระราชโอรส และพระราชธิดาดังที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้แล้ว จึงโปรดให้รื้อ พระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ที่เคยโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นที่เกาะสีชัง มาสร้างขึ้นใหม่ในสวนดุสิต พระราชทานนามพระที่นั่งนี้ว่า พระที่นั่งวิมานเมฆพร้อมกันนี้ พระองค์ยังทรงพระกรุณา โปรดเกล้า ฯ พระราชทานที่ดินทางด้านตะวันตกใกล้กับสวนสุนันทา ริมถนนใบพร (ถนนอู่ทองใน) โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระตำหนักชั่วคราวพระราชทานแก่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมขุนนครราชสีมา ได้รับพระราชทานนามแต่แรกเริ่มว่า สวนกุหลาบ
ครั้นวันที่ ๒๖ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๐ (พ.ศ. ๒๔๔๔) จึงโปรดเกล้า ฯ ให้มีการขึ้น พระตำหนักชั่วคราวที่พระราชทานแก่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมขุนนครราชสีมา อันพระราชทานนามไว้แต่แรกว่า พระตำหนักสวนกุหลาบการขึ้นพระตำหนักสวนกุหลาบ ทรงโปรดให้เลื่อนพระฤกษ์ให้เร็วกว่ากำหนดเดิม เพื่อจะได้ไม่ตรงกับพระฤกษ์เฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆ ที่จะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ภายหลังการขึ้นพระตำหนักสวนกุหลาบในวันรุ่งขึ้น
เมื่อเสร็จการขึ้นพระตำหนักสวนกุหลาบ (ชั่วคราว) แล้ว ในวันที่ ๒๗ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณา โปรดเกล้า ฯ ให้มีการเฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆตามพระฤกษ์ มีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสถวายศีล และนำสวดพระพุทธมนต์ จนเวลายาม กับ ๓๐ นาที เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร ลคร ซึ่ง เลื่อนภรรยาหลวงฤทธิ์นายเวร (พุฒ)จัดมาฉลองพระเดชพระคุณในงานเฉลิมพระที่นั่งซึ่งเล่นในปรำชาลาพระที่นั่ง ครั้นเวลา ๗ ทุ่ม ๓๖ วินาที เป็นพระฤกษ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆสรงมุรธาภิเศกในที่ แล้วเสด็จขึ้นพระแท่นเป็นพระฤกษ์ เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์พิณพาทย์ฆ้องชัย ในเวลาพระฤกษ์สรงมุรธาภิเศก และเสด็จขึ้นพระแท่น พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในถวายชัยมงคล
รุ่งขึ้นวันที่ ๒๘ มีนาคม มีพิธีพระราชทานฉันแก่พระสงฆ์ และพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์แก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ ครั้นพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก แล้วเสด็จพระราชดำเนินนำพระสงฆ์ (ซึ่งเป็นชุดเดียวกันกับที่นิมนต์มาเจริญพระพุทธมนต์เมื่อวันก่อน) เที่ยวชมพระที่นั่งข้างในทั่วไป ครั้นเวลา ๒ ทุ่ม ๔๕ นาที เสด็จพระราชดำเนินประทับโต๊ะเสวย และเสด็จพระราชดำเนินไปประทับทอดพระเนตร ลครอย่างวันก่อนจนเวลา ๗ ทุ่มเศษ เสด็จขึ้น
วันที่ ๒๙ มีนาคม เวลาย่ำค่ำ ๕๕ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกประทับ ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งวิมานเมฆ สดับพระพุทธมนต์เหมือนวันก่อน เวลา ๔ ทุ่มเศษ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับทอดพระเนตร ลครดังวันก่อนวันนี้พระราชทานรางวัลแก่ เลื่อนภรรยาหลวงฤทธิ์นายเวร (พุฒ) ในการที่จัดลครมาเล่นฉลองพระเดชพระคุณ เวลา ๗ ทุ่มเศษ เสด็จขึ้น
วันที่ ๓๐ มีนาคม เป็นวันจรดพระกรรบิดกรรไกรแก่หม่อมราชวงศ์ อันเป็นโอรส และธิดาของพระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์ คือ ม.ร.ว.หญิงประพันธ์พงษ์ ๑ และหม่อมราชวงศ์ในพระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ คือ ม.ร.ว.โป้ย และ ม.ร.ว.โป๊ะ ๒ หม่อมราชวงศ์ในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลังการ คือ ม.ร.ว.ณัฏฐสฤษดิ์ ๑ หม่อมราชวงศ์ในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านิลวรรณ์ คือ ม.ร.ว.หญิงเป้า ๑ เมื่อเสร็จสิ้นพิธีแล้วทรงเจิมหม่อมราชวงศ์ทั้ง ๕ และพระราชทานเงินทำขวัญตามสมควร จนเวลายามเศษ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับทอดพระเนตร ลิเกรพระยาเพชรปาณีซึ่งมีฉลองพระเดชพระคุณ ในการเฉลิมพระที่นั่งพอสมควรแก่เวลา และพระราชทานรางวัลแก่พระยาเพ็ชรปาณีด้วย เวลา ๒ ยามเศษ เสวยเครื่องว่างแล้วเสด็จขึ้น เป็นเสร็จการเฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆเท่านี้
***********************************************************************************
เรียบเรียงข้อมูลโดย ณัฐดนัย จันทร์เสมานนท์
***********************************************************************************
อ้างอิง :
- การเฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆ ,ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ ๑๙, วันที่ ๑๓ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ (พ.ศ.๒๔๔๕) ,หน้า ๒๕-๒๘
- แจ้งความเรื่องสวนดุสิต ,ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ ๑๕ , วันที่ ๗ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๗ (พ.ศ.๒๔๔๑) ,หน้า ๕๔๓


เพ้อเจ้อถึงละครพันทาง

จดหมายรักถึงคุณพันทาง


ฉันรักคุณนะค๊ะ คุณพันทาง แม้ว่าคุณจะเฉยเมยกับชั้น ไม่แยแสต่อน้ำคำของชั้น ไม่ส่งเสียงเพรียกกระตุ้นต่อมอีโรติกของชั้น แต่ชั้นก็รักในความเป็นคุณนะค๊ะ...ความหลายหลาก ความสับสน ความงุนงง ความผสมผสาน และความเป็นตัวตนของคุณทั้งหมดมันทำให้ชั้นอยากทะลวงล้วงเข้าไปในขั่วหัวใจคุณให้ได้สักที รักชั้นบ้างนะค๊ะ หันมามองชั้นบ้าง....ไม่ต้องวันนี้ก้ได้คะ (แต่อย่านานนะ) เพราะไม่ว่ายังไงชั้นก็จะยังรักคุณตลอดไป ถึงแม้ว่าชั้นจะยังไม่สามารถเข้าใจคุณได้ทั้งหมด แต่เราลงเรือลำเดียวกันแล้วนะค๊ะ เราจะขึ้นฝั่งไปพร้อม ๆ กันคะ ชั้นเชื่อว่าวันหนึ่งชั้นจะเข้าใจคุณได้มากกว่านี้ และคุณจะรักชั้นอย่างที่ชั้นรักคุณคะ คุณพันทาง"

รักเสมอและตลอดไปคะ
มุตาล

ประสบการณ์การสอน Southeast Asian Performance Class ที่อังกฤษ


ความยากในการสอนเด็กที่อังกฤษ ไม่ใช่เรื่องของความรู้ในตัวเราที่จะให้แก่เด็ก แต่เป็นเรื่องของวิธีการต่างหาก..มันเหมือนกับการขึ้นชกมวยบนสังเวียนวิชาการที่เราในฐานะครูต้องเป็นทั้งผู้ชกและเป็นกรรมการในเวลาเดียวกัน ความท้าทายเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการสอนเด็กกลุ่มนี้ เพราะตลอดเวลาที่คุณอยู่บนสังเวียน คุณไม่มีทางรู้เลยว่าคู่ต่อสู้ของคุณจะปล่อยหมัดไหนเข้าใส่คุณ ในขณะเดียวกันตัวคุณเองก็ต้องวางเกมส์รุกและรับที่เเนบเนียน เพื่อท้าทายคู่ต่อสู้ของคุณ และพร้อมรับหมัดของเค้าเช่นเดียวกัน...

คำถามหลายต่อหลายคำถามจากเด็ก ๆ กลุ่มนี้ มันเหมือนกับหมัดฮุกซ้าย ฮุกขวา ต่อด้วยหมัดเสยปลายคาง ทำเอาชั้นในฐานะครูเกือบเซ ได้เหมือนกัน ไม่ใช่เป็นเพราะสวนหมัดกลับไปไม่ได้ หรือไม่ทัน เเต่เพราะทึ่ง..ในคำถามเหล่านั้นมากกว่า และไม่คิดว่าเด็ก ๆ ที่ไม่เคยมีพื้นฐานเรื่องที่ชั้นสอนมาเลยจะคิดและมองไปได้ลึกขนาดนั้น อย่างเช่นคำถามที่ว่า เราสอนและสร้างความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณในงานนาฏศิลป์ที่ส่งผ่านไปสู่ความเป็นอัตลักษณ์ไทยอย่างไร เราจินตนาการถึงความจริงกับสิ่งสมมุติจากการแปลงกายบนเวทีของตัวละครไทยอย่างไร อะไรเป็นตัวบอกว่านี่คือจริง นี่คือสิ่งสมมุติ รวมทั้งคำถามที่ว่า ภาพที่ไม่มีปรากฏบนเวทีแต่ปรากฏในจินตนาการความคิดของผู้ชมได้อย่างไร เป็นต้น

คำตอบหลายคำตอบพรั่งพรูออกจากปากฉันไป ไม่รู้ว่าถูกหรือผิดแต่ทุกคำตอบล้วนมีเหตุและผลที่สามารถอธิบายได้ และสามารถนำไปสู่ความน่าจะเป็นของคำตอบ ณ เวลานั้น ได้มากที่สุด บางคำตอบนั้นก็โยงใยไปถึงเรื่องของการสอน Art  Appreciation ทางด้านนาฏศิลป์ไทยกันเลยทีเดียว ฉันก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าสิ่งที่ฉันตอบจะถูกต้องไปทั้งหมด เพราะฉันไม่ใช่เจ้าทฤษฏี ความรู้ที่มีก็ยังน้อยนิดนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ฉันยืนยันได้นั่นก็คือ ฉันได้เรียนรู้และคิดไปพร้อมกับเด็กนักเรียนเหล่านั้น พวกเขาช่วยให้ฉันเห็นและมองนาฏศิลป์ไทยในอีกมุมหนึ่ง อย่างที่ฉันยังต้องอึ้ง และทึ่งไปกับวิธีการคิด การมองและการถามในแบบของพวกเขา


การอธิบายงานนาฏศิลป์ไทยในเชิงที่เป็น Theatrical Theory ยังคงขาดแคลนและน้อยนิดเหลือเกินในมุมมองฉัน หลังจากที่ได้เผชิญกับคำถามเหล่านั้น เราในฐานะคนนาฏศิลป์มองเห็น เรียนรู้ งานนาฏศิลป์จากการจำ จด มาโดยปราศจากคำอธิบายมานานแค่ไหน มีงานเขียนที่เป็นการอธิบายในเชิง Theatrical Theory ของงานนาฏศิลป์ไทยที่ดีมีคุณภาพไม่มากนัก หนึ่งในนั้นก็คือ ตำนานละครอิเหนา ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถึงแม้ว่าจะเป็นการพรรณาความและบันทึกความทรงจำที่เป็นประวัติศาสตร์ค่อนข้างมาก หากแต่แอบแฝงไว้ซึ่งแนวคิดในเชิงทฤษฎีทางด้านนาฏศิลป์ตั้งแต่สมัยอดีตไว้เช่นกัน หรือแม้กระทั่งงานของ ศ.ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ หนังสือหลาย ๆ เล่มของท่านเติมเต็มในส่วนของทฤษฏีความรู้ทางด้านนาฏศิลป์ไทยและขยายมุมมองใหม่ ๆ ให้กับนักวิชาการนาฏศิลป์และดนตรีไทยเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าจะมีบางส่วนที่ข้อมูลผิดพลาด คลาดเคลื่อน ไปบ้างก็ตาม

ชั้นไม่ใช่คนบ้าเห่อหรือคลั่งฝรั่งอย่างไร้เหตุผล..ดังนั้นนี่จึงไม่ใช่การชื่นชมระบบการเรียนการสอนของฝรั่ง หรือชื่นชมความเก่งกาจ ความฉลาดล้ำเลิศ และความกล้าหาญของเด็กเหล่านี้อย่างงมงายไร้สติ หากแต่สิ่งที่มันทำให้ชั้นต้องย้อนกลับมาคิด ทบทวนต่อ แล้วตั้งคำถาม คือ เกิดอะไรขึ้นกับเด็กไทย ทำไมเราไม่ค่อยมีโอกาสเห็นภาพของการโต้เถียงกันอย่างถึงพริกถึงขิง ด้วยหลักการเหตุผล ข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้นจากการสังเคราะห์ความรู้ ของเด็กไทยอย่างที่ควรจะเป็น การสร้างองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการวิพากษ์มากกว่าการสั่งสอนแบบท่องจำในตำรามันอยู่ตรงไหนของระบบการเรียนการสอนไทย หรือร่ำเรียนด้วยการจดและจำมันล้าหลังเกินไปหรือกระตุ้นพลังการเรียนรู้และการต่อยอดทางความคิดของเด็กไทยได้ดีพอหรือยัง...

มันถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่คนนาฏศิลป์ไทยแท้ ๆ จะต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติอะไรบางอย่างทั้งกับตนเองและวงการของตน นั่นเป็นคำถามที่เกิดขึ้นกับชั้นอีกครั้งเมื่อชั้นเขียนมาถึงตรงนี้.... การเชื่อครู เดินตามแบบผู้อาวุโส โดยขาดการไตร่ตรองหาเหตุและผล การเลือกทางประนีประนอม แล้วหลบอยู่ในมุมมืดที่ดูเหมือนว่าน่าจะปลอดภัยของผู้ที่คิดต่าง มากกว่าการก้าวออกมาแสดงความเห็นที่แตกต่างและวิพากษ์สิ่งที่ไม่น่าจะถูกต้อง ไม่จริง หรือไม่ควรจะเป็นในวงการ ยังจะเป็นทางออกสำหรับการรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีงามทางด้านนาฏศิลป์ไทยอย่างนั้นหรือ...การต่อยอดทางความคิด การคิดต่าง และการยอมรับในความต่างที่ไม่แตกแยก มันจะเป็นไปได้ไหมบนเส้นทางนี้..การทำลายกำแพงของความอาวุสโส ไปสู่ความเท่าเทียมกันทางความคิดและปัญญา น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าหรือไม่สำหรับนาฏศิลป์กับสังคมไทยในปัจจุบัน...

ชั้นได้เขียน Post นี้ในแบบย่อ ไว้บน หน้า Wall Facebook  ของฉัน....มีเพื่อนมากมายเข้ามากดไลท์ บางคนก็ให้ Comments มี Comment หนึ่งที่น่าสนใจจากพี่ปัท..ครูใหญ่แผนกไทย ของบางกอกพัฒนา เธอเขียนไว้ว่า...
น่ายินดีที่แม้พื้นภูมิความรู้เกี่ยวกับนาฎศิลป์ไทยของเด็กต่างชาติจะจำกัด แต่เด็กมีกระบวนการคิดที่ดีและถูกฝึกให้สังเกตและตั้งคำถาม ไม่ใช่แค่ฟังรอรับข้อมูล พี่ไม่มั่นใจว่าเด็กไทยของเราเองจะมองเห็นประเด็นที่เด็กฝรั่งคิดที่ตาลยกตัวอย่างมา เราอาจไม่ฝึกให้เด็กเกิดความสงสัยมากพอ เลยไม่ถาม มันเป็นคุณลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องให้เด็กได้ reflect กับสิ่งที่เรียน ตั้งคำถามและเชื่อมโยงความคิด ความรู้เข้ากับประสบการณ์ของตน ซึ่งจะทำให้เค้านำความรู้ไปสังเคราะห์ต่อยอดได้
ฉันเห็นด้วยกับความคิดเห็นของพี่ปัท โดยเฉพาะในส่วนที่กล่าวว่า เราอาจไม่ฝึกให้เด็กเกิความสงสัยมากพอ เลยไม่ถาม เมื่อไม่ถามก็สะท้อนความคิดไม่ได้ ต่อยอดความรู้ไม่ได้...หากมองในมุมนี้จะเห็นว่า ครูเป็นต้นเหตุสำคัญและเป็นเหมือนปราการด่านแรกที่จะช่วยให้เด็กแสดงความเป็นตัวตน และต่อยอดความคิดได้ ดังนั้น ไม่แน่ว่าหน้าที่ของครูในด้านนาฏศิลป์ไทยในวันนี้ จึงไม่ควรจบหรือหยุดอยู่แค่การสอน เพื่อให้เด็กจำตาม อย่างไร้สติ อีกต่อไปแล้ว หากแต่ต้องกระตุ้นสติและปัญญา ให้คิด ให้ถาม ชี้นำทางเด็กไปสู่การขยายองค์ความรู้ที่กว้างขึ้นด้วยตนเอง โดยมีครูคอยส่งเสริม สนับสนุนอย่างห่าง ๆ  ในขณะเดียวกันครูก็ต้องเรียนรู้ เปิดใจที่จะยอมรับความใหม่ที่แตกต่างโดยไม่มีตำแหน่ง และอายุมาเป็นเครื่องกีดขวางความคิดเช่นกัน

มันก็เหมือนกับเกมมวยที่ชั้นเปรียบไว้ตั้งแต่ต้นบทความ เกมมวยนี้ผลมันไม่ได้อยู่ที่เเพ้ชนะ ผลมันอยู่ที่ชั้นและนักเรียนของชั้นต่างถูกกระตุ้นให้คิด วิเคราะห์ วิพากษ์ สังเคราะห์และมองในมุมที่ต่างออกไปจากความรู้ที่ชั้นป้อนให้เค้า หรือจากบทความ และการฝึกปฏิบัติที่ชั้นมอบหมายให้เค้าอ่านและทำ รวมทั้งการอภิปรายและแสดงความคิดเห็นอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อน ด้วยเหตุและผล ด้วยความน่าจะเป็น และปราศจากอคติ มันเหมือนเป็นเกมมวยที่ทั้งคู่ต่างเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน มากกว่าการพยายามที่จะหาผลสรุปว่าใครชนะ หรือใครแพ้..

วันอังคารที่จะถึงนี้...น่าจะเป็นคลาสที่เมามันอีกวันหนึ่งของชั้น เพราะฉันจะต้องทำหน้าที่เป็นกรรมการวิพากษ์ วิจารณ์เด็ก ๆ เหล่านั้น จากงานที่เค้าไปทำมา เป็น Experimental dance piece จากพื้นฐานท่ารำไทย ....มาคอยดูกันว่ามันจะมันส์หยดติ๋งขนาดไหน....

ป.ล. กราบคุณครูเทพและครูมนุษย์ และผู้ให้โอกาสทุกองค์ทุกท่านทุกคน  ที่ดลบันดาล นำพาให้ฉันได้เดินมาบนทางสายนี้  ให้ฉันได้รู้สึกถึงความงดงามของการฟ้อนรำที่มันลึกเกินกว่าแค่การสัมผัสจากผัสสะของชั้น ให้ฉันได้เล่าสู่ ส่งต่อ ในสิ่งที่ฉันเป็น ฉันคิด ฉันเรียนรู้ จากความงดงามเหล่านั้น ไปสู่คนอื่น ๆ แม้อาจจะไม่มากที่สุดแต่ก็มากเท่าที่กำลังและความสามารถของฉันจะทำได้...กราบขอบพระคุณจริง ๆ คะ